ตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) ด้วยแสงยูวี อย่างง่าย ทำเองได้ที่บ้าน ราคาไม่แพง ใช้งานได้ในทุกครัวเรือน คิดค้นโดย นศ.คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ปี 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้คิดค้นตู้หรือกล่อ งอบฆ่าเชื้อไวรัสขึ้นมาเป็นทางเลือก สามารถมีไว้ติดตั้งภายในบ้านพัก ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้
อาจารย์ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในชีวิตประจำวัน หลังเรากลับเข้าบ้าน ทั้งเสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ ธนบัตร กระเป๋าสตางค์ กุญแจรถ รวมทั้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ในแต่ละวัน มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ ตามมาด้วย แม้เราจะใส่แมสก์และล้างมือด้วยเจลแล้วก็ตาม เพราะเป็นคนละส่วนกัน ทำอย่างไรเราจะฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเครื่องครัว ขวดนม ผ้าอ้อม และเครื่องใช้ในครัวเรือนมาทำการฆ่าเชื้อได้อีกด้วย
ขณะที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์ ได้ช่วยกันคิดโดยนำหลักการ การฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี (ยูวี-ซี) ที่มีใช้อยู่แล้วในทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ ในการทำตู้ หรือกล่องฆ่าเชื้อไวรัส ขึ้นใช้ภายในครัวเรือน ช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้ออย่างง่าย เพราะสามารถหาซื้อหลอดยูวี มาติดตั้งในกล่องหรือตู้ระบบปิด ขนาดพอเหมาะกับเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องครัวที่จะทำการฆ่าเชื้อ
หลักการคือ
1 นำหลอดยูวี 1 หลอด ขนาด 6-15 วัตต์ มาติดตั้งในตู้หรือกล่องที่สามารถเปิด-ปิดได้ โดยภายในตู้หรือกล่อง นำเอาแผ่นฟอยด์มาบุติดไว้เพื่อให้เกิดการกระจายแสง (หากไม่ต้องการให้มีการสัมผัสกับตู้หรือกล่องก็ทำการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เปิดเปิด-ปิด ตู้หรือกล่องได้)
2. นำเสื้อผ้า เครื่องใช้ กระเป๋าสตางค์ ธนบัตร กุญแจรถ ฯลฯ ที่ต้องการฆ่าเชื้อมาใส่ (ระยะห่างหลอดไม่เกิน 50 ซม.) ปิดฝาและเปิดสวิตช์ ให้หลอดยูวีทำงาน ทิ้งไว้ประมาณ 2-5 นาที (ตามความเหมาะสมเพราะใช้เองที่บ้านไม่ต้องรีบ) เป็นอันสิ้นสุดการทำงาน
หมายเหตุ จำนวนหลอดยูวี และระยะเวลาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ สามารถปรับเพิ่ม-ลดได้ตามจำนวนหลอดและจำนวนวัตต์ที่นำมาใช้ สำหรับตู้หรือกล่องสามารถดัดแปลงที่มีอยู่แล้วและไม่ได้ใช้งานมาใช้ได้
อาจารย์อิทธิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ชุดฆ่าเชื้อไวรัส สามารถทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน ราคาต่อชุดไม่เกินหนึ่งพันบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนหลอดยูวี และจำนวนวัตต์ที่ใช้ และสามารถดัดแปลงตู้หรือกล่องที่ไม่ได้ใช้งานมาประยุกต์ใช้งานได้ (ต้องเป็นระบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้แสงยูวี สัมผัสร่างกายและดวงตา ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้)
สำหรับนักศึกษาเจ้าของโครงการ ตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ประกอบด้วย
1. นายอัศวรักษ์ ศรีสุขอร่าม
2. นายจารุวัฒน์ ทองระย้า
3. นายเอกพัน อุ่นมั่น
4. นายวิศรุต วิชาจารย์
อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม โทร 088 687 4777
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 29 มี.ค. 2563